สตรีที่ต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองจากการถูกละเมิดสิทธิ

นางไฮ ขันจันทา

อายุ 76 ปี
อาชีพเกษตรกร
ประวัตินางไฮ ขันจันทา เป็นบุตรของนายคำพา และนางคูณ เคนงาม สมรสกับนายฟอง ขันจันทา มีบุตรด้วยกัน 10 คน

การต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองจากการถูกละเมิดสิทธิ

นางไฮ ขันจันทา และครอบครัว เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนห้วยละห้า ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านโนนตาล กิ่งอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2520 อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) กระทรวงมหาดไทย ผลจากการสร้างเขื่อนทำให้น้ำท่วมที่นาทั้งหมดประมาณ 400 ไร่ ของชาวนา 21 ครอบครัว รวมครอบครัวของนางไฮ ขันจันทา นางไฮ และชาวนาอีก 2 ครอบครัว จึงได้ทำการคัดค้านโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นโดยไม่ได้ลงนามให้ความยินยอมการสร้างเขื่อนดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ รพช. ยังคงดำเนินการสร้างเขื่อนดังกล่าว จนแล้วเสร็จเมื่อปี 2521 ทำให้น้ำท่วมที่ดินของนางไฮ และครอบครัวชาวนาบางครอบครัว ซึ่งนางไฮ ได้ร้องเรียนต่อทางการเป็นลำดับ ตั้งแต่ปี 2520 – 2547 เป็นเวลากว่า 27 ปี แต่ปัญหาของนางไฮ ยังคงถูกเพิกเฉย ครอบครัวของนางไฮ ได้รับความลำบาก เดือดร้อน จากที่เคยมีฐานะพออยู่พอกิน ต้องกลายเป็นผู้ไม่มีที่ดินทำกิน ต้องเปลี่ยนอาชีพออกเร่ร่อนทำงานรับจ้างตามที่ต่างๆ สิ่งที่นางไฮ เรียกร้องคือค่าชดเชยความเสียหายในที่ดินที่ถูกน้ำท่วม (ซึ่งนางไฮ ยังคงเสียภาษีที่ดินดังกล่าวอยู่) รวมถึงค่าเสียโอกาส หรือค่าขาดรายได้จากการไม่ได้ทำกินในที่ดินที่ถูกน้ำท่วม ตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา ในปี 2542 นางไฮ เข้าร่วมกับสมัชชาคนจนที่หมู่บ้านแม่มูลยั่งยืน และได้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในที่ดินกลับคืน จนกระทั่งมีการเสนอปัญหาความเดือนร้อนของนางไฮ ผ่านสื่อโทรทัศน์ในรายการ “ถึงลูกถึงคน” รัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกเขื่อนดังกล่าว และคืนที่ดินให้ชาวบ้าน รวมถึงที่ดินของนางไฮ ด้วย